genco
FAQ
General Environmental Conservation Public
คู่มือการตอบข้อซักถาม
ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม กับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วปี 2548 และกฎหมายอื่นๆ”
การยื่นแบบ สก. 2 ยื่นทาง Internet แล้วจำเป็นจะต้องยื่นโดยใช้เอกสารอีกหรือไม่?
ไม่ต้อง
ในการแต่งตั้งตัวแทนต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
ให้ปฏิบัติตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทน เพื่อเป็นผู้รวบรวมและขนส่งของเสียอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548
การทำใบมอบอำนาจให้ผู้บริหารมอบอำนาจในการลงนามเอกสารของผู้ก่อกำเนิด ทำแล้วเก็บไว้อย่างไร ที่ไหน ให้ใครตรวจสอบ?
เก็บไว้ที่โรงงานผู้ก่อกำเนิด
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูคุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2551 โรงงานในเขตท้องที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจะสามารถปล่อยน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วจนได้ค่าตามกฎหมายกำหนด ออกนอกโรงงานได้หรือไม่ มีวิธีการอย่างไร?
ระบายออกนอกโรงงานไม่ได้ ต้องนำกลับไปใช้ประโยชน์ทั้งหมด
ถ้าอลูมิเนียมปรอท หรืออลูมิเนียมฟอสฟายด์ เมื่อทำปฏิกิริยากับความชื้นหรือน้ำหมดแล้วตัวกากนั้นจะเป็นอันตรายหรือไม่?
ต้องตรวจสอบว่าการทำปฏิกิริยากับน้ำหมดสิ้นอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่มีโลหะหนักปนเปื้อนจนมีค่าความเป็นอันตรายเกิน Total Concentration และ/หรือ Waste Extraction Test
เอกสารใบกำกับการขนส่ง (Manifest) ฉบับที่ 3 ทางผู้ก่อกำเนิดต้องส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทุกครั้งใช้หรือไม่ ถ้าไม่ส่งมีความผิดอะไรบ้าง?
ผู้ก่อกำเนิดต้องส่งทุกครั้ง หากไม่ส่งจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตาม พรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ปรับไม่เกินสองแสนบาท
กรณีที่บริษัท (ก่อกำเนิด) จะต้องส่งของเสียให้กับบริษัทผู้รับกำจัดตามกฎหมาย อยากสอบถามว่าทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะสามารถหาวิธีการในการควบคุมการคิดอัตราการรับกำจัดของผู้รับกำจัดหรือไม่ เพราะปริมาณหน่วยงานผู้รับกำจัดกับโรงงาน (ก่อกำเนิด) มีปริมาณไม่สอดคล้องกันทำให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมากจากผู้รับกำจัดที่คิดราคาแพง ?
กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีการควบคุมราคาค่าบำบัดและกำจัดในกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเจ้าของโครงการเท่านั้น
ถ้าโรงงานมี 3 เลขทะเบียนโรงงานแต่วันหมดอายุใบอนุญาตแต่ละโรงงานไม่เท่ากัน สามารถเปลี่ยนได้หรือไม่ครับ (เวลาต่อใบอนุญาตประจำปี สก. 2 จะได้สะดวก)?
สามารถเปลี่ยนให้ตรงกันได้
กรณีที่ยื่นใบอนุญาตแล้ว (สก. 2) ช้ากว่า 15 วัน ในระบบ Internet จะมีผลหรือโดนปรับเงินหรือเปล่า เพราะใบอนุญาตเก่าหมดอายุไปแล้วแต่ในช่วงที่หมดไม่มีการขนส่ง?
การขนกากของเสียอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ปรับไม่เกินสองแสนบาทต่อครั้ง้
ของเสียที่ไม่อันตราย เช่น กระดาษ, พลาสติก, เศษเหล็ก ที่มาจากระบวนการผลิตของเสียเหล่านี้ต้องยื่นขออนุญาตนำออกนอกบริเวณโรงงานประจำปีหรือไม่?
ต้องดำเนินการขออนุญาต
หากของเสียไม่อันตรายต้องดำเนินการขออนุญาต กรณีผู้รับซื้อหรือรับกำจัดไม่มีเลขทะเบียนโรงงานจะต้องดำเนินการอย่างไร และหากมีเลขทะเบียนโรงงานแต่ไม่มีเลขประจำตัวของผู้รับบำบัดหรือผู้รับซื้อ ผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับกำจัดหรือผู้รับซื้อจะต้องดำเนินการอย่างไร?
บุคคลธรรมดารับของเสียได้แต่ต้องน้อยกว่า 10 ตัน/ปี
สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว(ไม่อันตราย) ที่เกิดจากสำนักงาน เช่น เศษกระดาษ, พลาสติก, ขวดน้ำดื่ม ต้องยื่นขออนุญานหรือไม่?
ไม่ต้องดำเนินการขออนุญาตี
กรณีขออนุญาตให้ผู้รับกำจัด 1 รายไว้ แต่ในระหว่างปีจะขอเปลี่ยนผู้รับกำจัดรายใหม่ สามารถทำได้หรือไม่ (ของเสียเป็นรหัสเดิม)?
สามารถกระทำได้
การเริ่มทำ สก. 1 จะต้องเริ่มจากจุดไหนบ้าง และมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรบ้าง และมีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องทำการส่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตัวอย่างกรณีถังเปล่าจำพวกกรด ที่ส่งคืนบริษัทจำเป็นจะต้องขอ สก. 1 หรือไม่?
การทำ สก. 1 ในกรณีที่มีการเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมเกินกว่า 90 วันขขึ้นไป สามารถยื่นได้ทางระบบอิเล็คทรอนิกส์ ส่วนกรณีถังกรดจะต้องดำเนินการขออนุญาตตาม สก. 2
หากเกิดความผิดพลาดนำของเสียของเหลวเป็นของเสียอันตรายใส่ภาชนะบรรจุชำรุดแล้วเกิดการหกรั่วไหลระหว่างการขนส่ง ถ้ารถขนส่งถูกจับเรื่องของเสียหกรั่วไหลจะมีผลกระทบต่อโรงงานผู้ก่อกำเนิดหรือไม่อย่างไร?
ผู้ก่อกำเนิดมีความผิดต่อ Liability (ภาระความรับผิด)
ถ้ายื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เอกสาร กอ. 1 ทำ 2 ชุดพอหรือไม่ กฎหมายได้กำหนดให้ทำ 3 ชุดตอนยื่นทางเอกสารจะต้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่?
เอกสาร กอ. 1 เก็บไว้ที่ผู้ก่อกำเนิด 2 ชุด และผู้รับกำจัด 1 ชุด
กรณีรหัส 6 หลักเช่น 080112 เป็นของเสียไม่อันตรายบริษัทฯ ผู้ก่อกำเนิดสามารถทิ้งปกติได้ไม่ต้องส่งกำจัด หรือต้องส่งกำจัดปกติกับผู้รับกำจัด?
ต้องส่งกำจัดไปยังผู้รับกำจัดที่ถูกต้องตามกฎหมายและต้องขออนุญาตก่อน
การกำจัดของเสียประเภทเศษอิฐ, หิน, ปูน,ทราย ที่เสร็จสิ้นจากกระบวนการก่อสร้างของผู้รับเหมาแล้ว ของเสียที่เกิดขึ้นเหล่านี้ใครเป็นผู้รับดำเนินการ แล้วมีรายละเอียดการดำเนินการอย่างไรบ้าง?
ผู้ก่อกำเนิดเป็นผู้รับผิดชอบในการขออนุญาต ซึ่งรายละเอียดเช่นเดียวกันกับการขออนุญาตนำกากออกนอกบริเวณโรงงาน ในกรณีที่ถมที่ลุ่มต้องยื่นขอทางเอกสารพร้อมสำเนาโฉนดและหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน